วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

กำจัดหอยเชอรี่ด้วยสมุนไพรไม่ใช้สารเคมี

           หอยเชอรี่นับว่าเป็นสัตว์แมลงต่างถิ่น ที่เข้ามาเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ของเรา เบียดเบียนหอยด้วยกันไม่พอ ยังเบียดเบียนต้นข้าวและพืชน้ำอีกต่างหาก หอยเชอรี่มีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เช่น ประเทศชิลี อาร์เจนตินา สุรินัม โบลิเวีย บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย ในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น มลรัฐฟลอริด้าและเทกซัสของสหรัฐอเมริกา ในแถบอเมริกากลาง เช่น จาไมก้า คิวบา ทรินิแดด โดมินิกัน เป็นต้น และเข้ามาในประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2525 – 2526 ในฐานะหอยสวยงาม เพราะลักษณะสีสันของเปลือก หรือกระดองที่สวยงาม และไข่เป็นสีชมพูน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนในยุคนั้น  และได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ เพียงเพราะการทิ้งหอยไม่กี่ตัวลงในแม่น้ำ จนส่งผลเสียอย่างมหาศาลในปัจจุบัน โดยเฉพาะในแทบที่ลุ่มภาคกลาง ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก็ถูกเจ้าหอยเชอรี่ยึดครอง และสร้างความเสียหายเป็นอันมาก  เกษตรกรหลายรายใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเชอรี่ ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร แต่ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์นั้นเสียหายเป็นวงกว้าง เพราะทำให้กุ้ง หอย ปู ปลาสัมผัสสารเคมีจนตายตามหอยเชอรี่ไปด้วย จึงมีแนวคิดที่ว่าจะใช้พืชหรือสมุนไพรที่มีอยู่มาใช้กำจัดหอยเชอรี่เพื่อลดปัญหาด้านผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในน้ำ
วิธีกำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี มีส่วนผสมดังนี้
1.ฝักคูนแก่ 10 กิโลกรัม
2.กากน้ำตาล 2 ลิตร
3.น้ำส้มสายชู 1 ลิตร
4.น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร
5.ถังหมัก ขนาด 50 ลิตร

ขั้นตอน/วิธีการทำ
โดยการตัดฝักคูณเป็นท่อนขนาดประมาณ 1-2 นิ้ว จากนั้นทุบให้แตกไม่ต้องละเอียดมากนัก ใส่ลงในถังหมัก เติมกากน้ำตาล น้ำส้มควันไม้และน้ำส้มสายชูตามลงไป จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ในที่ร่ม หมักทิ้งไว้ 1 เดือน

การนำไปใช้งาน
เนื่องจากยางมะละกอจะมีกลิ่นหอม สามารถดึงดูดให้หอยเชอรี่เข้ามาได้ โดยใช้ใบมะละกอเป็นตัวล่อ นำมาห่อกับฝักคูณหมัก วางตามจุดที่หอยเชอรี่ชุม หรือวางไว้ในนาข้าวที่มีน้ำขัง หอยเชอรี่สามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นยางมะละกอ แล้วก็เข้ามากินฝักคูณหมักที่เป็นอาหารที่หอยเชอรี่ชื่นชอบ หลังจากกินแล้วไม่เกิน 3 วัน หอยเชอรี่จะลอยขึ้นมาตายจากการได้รับสารพิษ

หมายเหตุ
      –   พืชหลายชนิดที่สามารถกำจัดหอยเชอรี่ ได้แก่ สาบเสือ ฟ้าทลายโจร ฝักคูนแก่

      –   เหยื่อล่อจะต้องเป็นพืชที่หอยชอบกิน เช่น ใบผัก ใบมันเทศ ใบมันสำปะหลัง ใบมะละกอ หรือพืชอื่น ๆ ที่มียางขาวคล้ายน้ำนม




ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก บ้านสวนลุงฟ้า แฮปปี้ฟาร์ม 17 กันยายน2559 23.05 น.

โหลด PDF ไฟล์>> https://goo.gl/ooDKa2